2 ตุลาคม 2563
14
หากจะพูดถึงประเด็นสำคัญทางสังคมที่เกิดขึ้นในทวีปยุโรปในปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการระบาดของไวรัส Corona ในช่วงต้นปี 2563
คงไม่มีประเด็นใดจะได้รับความสนใจจากประชาชนในทวีปยุโรปมากไปกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม เริ่มต้นจากการประท้วงเล็กๆ ของ Greta Thunberg นักเรียนมัธยมชาวสวีเดนวัย 15 ปี ซึ่งตัดสินใจไม่ไปโรงเรียนในทุกวันศุกร์เพื่อนั่งประท้วงหน้ารัฐสภาของสวีเดน
การประท้วงของ Thunberg ได้จุดประกายและก่อให้เกิดกระแสความสนใจในปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา จนนำมาสู่การชุมนุมประท้วงของนักเรียนมัธยมในปัญหาสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งจัดขึ้นในทุกวันศุกร์ในนาม “Friday for Future”
ในเยอรมนี การชุมนุมประท้วง Friday for Future ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากทั้งจากด้านผู้เข้าร่วมชุมนุม ซึ่งส่วนใหญ่คือนักเรียนระดับมัธยมศึกษา และจากฝั่งผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหา จากการรวมตัวของนักเรียนเพื่อประท้วงตามเมืองต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นทั่วประเทศ ได้นำไปสู่การรวมตัวกันประท้วงใหญ่ในกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนี ซึ่งมีผู้ร่วมชุมนุมหลายหมื่นคน
นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมกลายเป็นจุดตัดสินสำคัญทางการเมือง การสำรวจความนิยมที่มีต่อพรรคการเมืองในเยอรมนีในช่วงปี 2562 พบว่าพรรค Green (Die Grünen) ซึ่งมีนโยบายหลักในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้รับความนิยมสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับแต่การก่อตั้งพรรคในปี 2523
และในการเลือกตั้งระดับรัฐ (Landestagwahl) ในหลายรัฐของเยอรมนี พรรค Green ได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งในครั้งก่อนๆ ซึ่งย่อมส่งผลให้นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของพรรคนี้ถูกนำไปสู่ผลในทางปฏิบัติมากยิ่งขึ้น จากปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคการเมืองต้องหันมาสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและสร้างนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ที่ตอบสนองกับความต้องการของประชาชนในการเลือกตั้งใหญ่ระดับประเทศ (Bundestagwahl)
การเลือกตั้งซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2564 อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญเกิดขึ้น เนื่องจากนาง Angela Merkel ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลต่อเนื่องมา 4 สมัย หรือ 16 ปี ประกาศไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งต่อไป
เชื่อว่าพรรคการเมืองของเยอรมนีโดยเฉพาะพรรคใหญ่สองพรรคหลัก คือ พรรค CDU (Christian Democratic Union of Germany-Christlich Demokratische Union Deutschlands) และพรรค SPD (Social Democratic Party of Germany-Sozialdemokratische Partei Deutschlands)จำเป็นต้องมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อเข้าถึงความพึงพอใจของประชาชน นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมจึงเป็นประเด็นหลักที่สำคัญที่สุดประเด็นหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้
จากบรรยากาศทางสังคมและการเมืองที่กล่าวมาข้างต้น เห็นได้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นแห่งอนาคตที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ สหภาพยุโรป (The European Union) ได้เห็นชอบในกฎหมายเกี่ยวกับการจำกัดการใช้พลาสติกในปี 2561 เพื่อให้ประเทศสมาชิกนำไปปฏิบัติเพื่อจำกัดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมลงให้ได้ในปี 2564
จากข้อบังคับของสหภาพยุโรปและจากความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2563 รัฐสภาของสหพันธรัฐเยอรมนีออกกฎหมายห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวในประเทศ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.2564 เป็นต้นไป
จากกฎหมายดังกล่าวทำให้นับแต่วันที่ 3 ก.ค.2564 ผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวจะไม่มีการวางจำหน่ายในเยอรมนีอีกต่อไป โดยผลิตภัณฑ์จากพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวซึ่งจะถูกห้ามจำหน่ายนี้ประกอบไปด้วย ผลิตภัณฑ์ใส่อาหารจากพลาสติก (จาน ชามพลาสติก) ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการรับประทานอาหาร เช่น ช้อน ส้อม มีด ตะเกียบ ซึ่งผลิตจากพลาสติก หลอดดูดน้ำพลาสติก กล่องโฟมบรรจุอาหาร กล่องและแก้วกระดาษที่มีส่วนผสมพลาสติกเพื่อบรรจุอาหาร หรือเครื่องดื่มร้อน หรือที่เรียกว่าบรรจุภัณฑ์แบบ To Go รวมถึงที่ปั่นหูซึ่งผลิตจากพลาสติก
รัฐสภาเยอรมนีระบุเหตุผลสำคัญและวัตถุประสงค์ของกฎหมายดังกล่าวไว้ “เพื่อลดปริมาณขยะจากพลาสติกโดยเฉพาะขยะที่ถูกทิ้งสู่ทะเล โดยประมาณการไว้ว่าจะช่วยลดปริมาณขยะที่ลงสู่ทะเลได้ถึงร้อยละ 70”
นอกจากนี้ยังมีมาตรการซึ่งคาดว่าจะมีการบัญญัติเพิ่มขึ้น เพื่อใช้บังคับกับผลิตภัณฑ์จากพลาสติกอื่นๆ เช่น กระดาษเช็ดทำความสะอาดชนิดเปียก ถ้วยพลาสติก การกำหนดให้ผู้ผลิตต้องมีคำเตือนเกี่ยวกับผลเสียของผลิตภัณฑ์ต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแจ้งวิธีการทิ้งผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อให้ผู้บริโภคทราบข้อมูลประกอบการตัดสินใจการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และทราบวิธีทิ้งผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้อง
รวมถึงในส่วนของที่กรองบุหรี่ ซึ่งถือเป็นปัญหาขยะพลาสติกที่ใหญ่ที่สุด จะมีการกำหนดให้ผู้ผลิตบุหรี่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บและการกำจัดขยะประเภทดังกล่าว รวมถึงต้องพิมพ์คำเตือนเกี่ยวกับมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมลงบนซองบุหรี่อีกด้วย
รัฐบาลเยอรมนีหวังว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมพัฒนาทางเลือกใหม่เพื่อลดการใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก แต่ในขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมก็มีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนของสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะถูกผลักภาระไปให้ผู้บริโภค เป็นที่น่าสนใจว่าเมื่อมาตรการตามกฎหมายดังกล่าวเริ่มต้นใช้บังคับในปี 2564 แล้ว ผลสัมฤทธิ์ทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจในเยอรมนีจะเป็นเช่นใด
โดย...
ดร.ศิริญญา ทองแท้ สมจริง
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
October 02, 2020 at 07:10AM
https://ift.tt/2SeZ8Jx
'เยอรมนี'ห้ามผลิตภัณฑ์พลาสติกปี 64 | กฎหมาย 4.0 - กรุงเทพธุรกิจ
https://ift.tt/2Vr1UN4
Bagikan Berita Ini
0 Response to "'เยอรมนี'ห้ามผลิตภัณฑ์พลาสติกปี 64 | กฎหมาย 4.0 - กรุงเทพธุรกิจ"
Post a Comment